รีวิวประสบการณ์การเรียน 4 ปี ใน LLB โดย “พี่นาเดีย”

Table of Contents

คณะนิติศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ สาขากฎหมายธุรกิจ (International LL.B. in Business Law) หรือเรียกสั้นๆว่า LLB (Bachelor of Law) เป็นหลักสูตรใหม่ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในเมืองไทยที่สอนกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษในชั้นปริญญาตรี โดยจะเน้นสอนในด้านกฎหมายธุรกิจทั่วไป และมีการแยกย่อยออกเป็น 4 ประกาศนียบัตร (Certificates) ได้แก่ Corporate Law (กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท) ,International Trade Law (กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ), Intellectual property and information technology law (กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี) , Tax law (กฎหมายภาษี)

LLB Thammasat มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของ law firm (สำนักงานกฎหมาย) โดยนักเรียนส่วนใหญ่ที่จบไปแล้วมักจะเลือกทำงานกฎหมายในภาคเอกชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าน้องๆที่เข้ามาเรียนจะไม่สามารถทำงานในสายราชการได้ เนื่องจากการเรียนการสอนจะต้องอ่านหนังสือไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ที่สำคัญ นักศึกษาที่จบจากคณะนี้ สามารถสอบตั๋วทนายและเนติบัณฑิตได้เหมือนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ภาคปกติ

การเรียนการสอนในคณะ

คลาสส่วนใหญ่จะเน้นสอนเป็นเลคเชอร์ โดยไม่มีการแบ่ง sector ซึ่งหมายความว่านักศึกษาจะได้มีโอกาสเจอเพื่อนๆ และทำกิจกรรมร่วมกันในคลาสต่างๆ มากขึ้น โดยลักษณะของนิติศาสตร์แล้วบรรยกาศการเรียนการสอนนั้นจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ถกเถียงและตั้งคำถามกับอาจารย์และเพื่อนๆ คนอื่นในห้องด้วย การสอบส่วนใหญ่จะเป็นการสอบเขียน โดยจะมี take home exams และ presentation มากขึ้นในช่วงปีสามและปีสี่

3 วิชาเด็ดที่ต้องเจอใน LLB

LB200 Obligations: General Principles (กฎหมายลักษณะหนี้)

หนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้มีหมายถึงเฉพาะการกู้ยืมเงิน แต่หมายถึง ความผูกพันที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมาย เช่น หนี้โดยการละเมิด วิชานี้ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของกฎหมายแพ่งและเป็นสิ่งที่นักกฎหมายทุกคนควรเข้าใจเป็นอย่างดี วิชานี้ นอกจากจะสำคัญมากๆแล้ว ยังมีมาตราที่ต้องจำและเข้าใจอีกมากมาย จึงถือเป็นวิชาที่ยากระดับต้นๆของคณะเลยก็ว่าได้

LB380 General Principles of Procedural Law (กฎหมายวิธีพิจารณาความ)

นอกจากความรู้เรื่องกฎหมายทั่วไปแล้ว นักกฎหมายต้องเข้าใจระบบศาลและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่างๆด้วย ก่อนที่จะขึ้นศาลเราต้องทราบว่าศาลไหนมีเขตอำนาจในการรับฟังคดี รวมถึงอายุความของคดีนั้นๆอีกด้วย หลักสูตร LLB TU มีความแตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้มีการแยกวิชาพิจารณาความแพ่ง (Civil Procedure) และวิชาพิจารณาความอาญา (Criminal Procedure) ออกจากกัน จึงทำให้นักศึกษาต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาจำนวนมากในเวลาสั้นๆ นอกจากการบรรยายแล้ว อาจารย์บางท่านก็มีการจัดกิจกรรมศาลจำลอง (Mock Trial) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ขั้นตอนการขึ้นศาลในทางปฏิบัติ โดยมีการยื่นคำฟ้อง (plaint) และสืบพยาน (witness examination)

LB333 Law on Business Organizations (กฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท)

เนื่องจากหลักสูตร LLB มีการเรียนการสอนที่เจาะจงไปในด้านกฎหมายธุรกิจ วิชากฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัทจึงเป็นวิชาที่นักศึกษาทุกคนต้องได้เรียน วิชานี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับทุกด้านของบริษัท ตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท หุ้น กรรมการบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงการเลิกบริษัท เนื่องจากกฎหมายเรื่องห้างหุ้นส่วน บริษัทเอกชน และบริษัทมหาชน มีความแตกต่างกันในหลายๆด้าน นี่จึงเป็นอีกวิชาที่ยากและต้องใช้ความเข้าใจสูง

ทักษะที่จำเป็นในการเรียนคณะนี้

Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์)

หลายๆครั้งในคาบเรียนอาจารย์จะมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม รวมถึงชวนให้นักศึกษาตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวัน การเข้าใจว่ากฎหมายมีผลกระทบกับส่วนใดบ้างในชีวิตของเรา และการมองเห็นถึงปัญหา และความอยุติธรรม รวมถึงการคิดถึงวิธีแก้ จึงเป็นทักษะที่สำคัญมากในการเรียนในคณะนิติศาสตร์

Analytical Skills (ทักษะการวิเคราะห์)

นอกจาก legal knowledge (ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย) ที่ดีแล้ว นักศึกษาต้องมีความสามารถในการนำหลักและมาตราต่างๆมาใช้กับสถาณการณ์จริง ซึ่งหลายๆครั้งในคดีต่าง ข้อเท็จจริงที่เราได้มาอาจจะทำให้เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับหรือตีความกฎหมายให้เป็นไปในทางที่เข้าข้างลูกความของเรา

Academic Writing (การเขียนเชิงวิชาการ) and Research (การค้นคว้าหาข้อมูล)

นอกเหนือจากทักษะข้างต้นแล้ว Academic Writing and Research เป็นทักษะที่จำเป็นมากในการเป็นนักกฎหมาย เพราะมันจะทำให้เราสามารถสื่อสารข้อมูลได้อย่างเป็นทางการและน่าเชื่อถือ

เทคนิคการเรียน LLB Thammasat

การเข้าเรียนหรือฟังคลิปเสียงของการบรรยายต่างๆเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากหลายๆครั้งอาจารย์จะมีการอธิบายและเล่าประสบการณ์ต่างๆที่ทำให้เราเข้าใจการใช้กฎหมายจริงมากขึ้น ซึ่งสิ่วเหล่านี้ไม่สามารถหามาได้จากหนังสือหรือชีทเสมอไป นอกจากนี้การถามคำถามเมื่อเราไม่เข้าใจก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แม้ว่าคณะนี้จะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่เนื้อหาที่เราได้เรียนจะเกี่ยวกับกฎหมายไทย การอ่านหนังสือภาษาไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหามากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ในชีวิตการทำงานต่อไป

สรุป

LLB นิติฯ อินเตอร์ ธรรมศาสตร์ เน้นสอนในด้านกฎหมายธุรกิจทั่วไป และมีการแยกย่อยออกเป็น 4 ประกาศนียบัตร (Certificates) ได้แก่

● Corporate Law (กฎหมายหุ้นส่วนบริษัท)
● International Trade Law (กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ)
● Intellectual property and information technology law (กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี)
● Tax law (กฎหมายภาษี)

การเรียนการสอนที่ LLB

● เน้นสอนเป็นเลคเชอร์
● เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ถกเถียงและตั้งคำถามกับอาจารย์และเพื่อนๆ
● การสอบส่วนใหญ่จะเป็นการสอบเขียน โดยจะมี take home exams และ presentation มากขึ้นในช่วงปีสามและปีสี่

3 วิชาเด็ดที่ต้องเจอในคณะนี้

● LB200 Obligations: General Principles (กฎหมายลักษณะหนี้)
● LB380 General Principles of Procedural Law (กฎหมายวิธีพิจารณาความ)
● LB333 Law on Business Organizations (กฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัท)

ทักษะที่จำเป็นในคณะนี้

● Critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์)
● Analytical skill (ทักษะการคิดวิเคราะห์)
● Academic Writing and Research (การเขียนเชิงวิชาการและการค้นหาข้อมูล)